วัตถุประสงค์

        การประชุมวิชาการกองทัพเรือครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2543 โดย พลเรือเอก ประเสริฐ บุญทรง ได้มอบนโยบาย ให้มีการจัดประชุมดังกล่าว เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานของกองทัพเรือรวมทั้ง เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทและการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ ให้แก่ประชาชนและผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นทางวิชาการ แล้วนำความคิด ข้อเสนอแนะ จากการประชุมมาปรับปรุงและพัฒนากองทัพเรือต่อไป โดยการดำเนินการนั้นได้มอบหมายให้ สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง (สรส.ในขณะนั้น) เป็นเจ้าของเรื่องพิจารณาจัดประชุมทุกวงรอบ 2 ปี
วัตถุประสงค์ของการประชุมทางวิชาการของกองทัพเรือครั้งที่ ๑๒

        ๑. เข้าใจความสำคัญของแนวคิด Blue Economy และความคืบหน้าในการดำเนินการเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวในระดับสากล

        ๒. สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ และประชาชนทั่วไป ในการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล และสนับสนุนการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

        ๓. เข้าใจมิติที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนแนวคิด Blue Economy และการบูรณาการความร่วมมือ

        ๔. เผยแพร่บทบาทกองทัพเรือตามกรอบสนับสนุนแนวคิด Blue Economy เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
        ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการ เข้าใจความสำคัญของแนวคิด Blue Economy และตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเล และสนับสนุนการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างสมดุล รวมทั้ง เข้าใจบทบาทกองทัพเรือตามกรอบสนับสนุนแนวคิด Blue Economy และการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ความเป็นมา

        ปี พ.ศ.๒๕๔๓ พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง เสนาธิการทหารเรือ ในขณะนั้น ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมทางวิชาการของกองทัพอากาศ ซึ่งในรายงานผลการประชุมของ พล.ร.อ.ประเสริฐ บุญทรง ได้ให้สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง (สรส.) ในขณะนั้นเป็นเจ้าของเรื่องพิจารณาจัดประชุมทางวิชาการของ ทร. โดยได้กำหนด ให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (สรส.ขณะนั้น) จัดการประชุมฯ ทุก ๒ ปี และเป็นหน่วยกำหนดหัวข้อเรื่องแล้วเสนอ ขอความเห็นชอบจากกองทัพเรือ ซึ่งที่ผ่านมา ยศ.ทร.ได้ดำเนินการจัดการประชุมแล้วทั้งสิ้น ๑๑ ครั้ง (พ.ศ.๒๕๔๓ ถึง พ.ศ.๒๕๖๔) โดยมีวัตถุประสงค์การจัดการประชุมฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท และการปฏิบัติงานของกองทัพเรือให้แก่ประชาชนและผู้เข้าร่วมประชุมฯ ตลอดจนนำแนวคิดและข้อเสนอแนะ จากการประชุมมาปรับปรุงและพัฒนากองทัพเรือให้สอดคล้องต่อการรับรู้ของประชาชน
ที่มาและความสำคัญของโครงการ

        จากแนวคิดระบอบทุนนิยม และการเจริญเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว สิ่งดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในลักษณะก้าวกระโดดและเชื่อมโยงในแต่ละภูมิภาคภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น ขาดการพิจารณาถึงความสมดุลของการรักษาสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นในลักษณะนี้ต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ในการประชุมระดับนานาชาติ RIO + 20 UN Summit ในปี ค.ศ.๒๐๑๒ ที่มุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของมนุษย์และสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ในขณะเดียวกัน ก็เน้นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ จากจุดเริ่มของแนวคิดเศรษฐกิจ สีเขียว ได้ต่อยอดไปสู่การให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล และความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม และการรักษาทรัพยากรทางทะเลควบคู่กันไป จนเกิดแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือ Blue Economy ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ได้กลายเป็นแนวคิดที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในสิบเจ็ดเป้าหมายอันจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงในปีคริสตศักราช ๒๐๓๐ ต่อไป

        จากการที่กองทัพเรือเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลของไทย และมีบทบาทที่สำคัญในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยทางทะเล เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนั้น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลจึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่มีความสำคัญที่กองทัพเรือจำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันไป ด้วยเหตุดังกล่าว กองทัพเรือจึงให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ ได้บรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของผู้บัญชาการทหารเรือ ในด้านที่ ๓ “ที่ให้ส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน โดยการสนับสนุนหน่วยงานของกองทัพเรือ ศรชล. และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางทะเล ได้ตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล”

        จากการที่กองทัพเรือเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงทางทะเลที่สำคัญของไทย และมีบทบาทหลักในการดูแลรักษาความมั่นคงความสงบเรียบร้อยทางทะเล เพื่อให้เศรษฐกิจทางทะเลสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นั้น จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และห่วงโซ่กิจกรรมทางทะเล รวมทั้ง บทบาทของกองทัพเรือที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยรับฟังจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้สามารถนำมากำหนดเป็นกรอบในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมได้ต่อไปในอนาคต
ตามคำสั่ง ทร. (เฉพาะ) ที่ 290/2552 ให้ ยศ.ทร. จัดการประชุมฯ ทุก 2 ปี และเป็นหน่วยกำหนดหัวข้อเรื่องแล้วเสนอขอความเห็นชอบจาก ทร.
หัวข้อการประชุม ทร. ทั้ง ๑๑ ครั้งที่ผ่านมา

ครั้งที่ ๑ (๒๕๔๓) เรื่อง กองทัพเรือไทยในศตวรรษที่ ๒๑

ครั้งที่ ๒ (๒๕๔๖) เรื่อง ความมั่นคงทางทะเลในมิติของความร่วมมือ

ครั้งที่ ๓ (๒๕๔๘) เรื่อง พลังมวลชนกับการแก้ปัญหาใน ๓ จังหวัดภาคใต้

ครั้งที่ ๔ (๒๕๕๐) เรื่อง กองทัพเรือ...เพื่อชาติและประชาชน

ครั้งที่ ๕ (๒๕๕๒) เรื่อง ประชาคมอาเซียน ๒๐๑๕ : บทบาทของกองทัพเรือในอนาคต

ครั้งที่ ๖ (๒๕๕๔) เรื่อง ความคาดหวังของประชาชนกับบทบาทของกองทัพเรือ

ครั้งที่ ๗ (๒๕๕๖) เรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจทางทะเลของไทย และการพัฒนากองทัพเรือในทศวรรษหน้า

ครั้งที่ ๘ (๒๕๕๘) เรื่อง บทบาทมหาอำนาจที่มีผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทย

ครั้งที่ ๙ (๒๕๖๐) เรื่อง สมุทราภิบาลและเศรษฐกิจทางทะเลของไทยกับบทบาทของ ทร.

ครั้งที่ ๑๐ (๒๕๖๒) เรื่อง บทบาทของกองทัพเรือสมัยใหม่ (Modern Navy) กับกองทัพเรือหลังสมัยใหม่ (Post - Modern Navy) ในโลกยุคโลกาภิวัตน์”

ครั้งที่ ๑๑ (๒๕๖๔) เรื่อง การพัฒนากำลังรบทางเรือภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี